ช่วงนี้เห็นหลายเพจโพสเรื่องความเสี่่ยงของการให้ลูกกินนมแม่ของคนอื่นค่ะ เนื่องจากมีรูปที่ส่งต่อๆ กัน เป็นเคสเด็กติดเชื้อ HIV จากการทานนมแม่ของน้าของเด็กเอง
ไม่แน่ใจว่าจริงมั้ยนะคะ แต่อยากจะแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง ในฐานะแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาตลอด และจะเชียร์ให้ทุกคนที่รู้จักให้ลูกทานนมแม่ เพราะว่ามันดีจริงๆ ไม่ใช่แค่ดีกับลูก แต่ดีกับแม่มาก ๆ ด้วย ทั้งสะดวกสบาย ไปไหนมาไหนง่าย กลางคืนแม่ได้พักผ่อน (ดูดเต้า ไม่ดูดจากขวดนะคะ) อ่าน blog ที่เคยเขียนเรื่องกินนมแม่ดีกับคุณแม่ยังไงตามลิงค์ค่ะ (คลิก)
ส่วนตัวตอนเพิ่งคลอดลูก นมน้อยมากค่ะ และมีปัญหานมคัด ปั๊มไม่ออกหลายที ท้อใจอยู่ค่ะ ลูกตัวเหลือง เข้ารพ.ไปสองรอบ คนที่บ้านกดดันให้ลูกกินขวด กินนมผง เราก็พยายามปั๊มพยายามหัดให้ลูกดูดค่ะ คลอดลูกออกมา ความเหนื่อยความเพลีย ความวุ่นวายของการเลี้ยงลูก ไหนจะเรื่องนมแม่ จิตตกกันได้ค่ะ เพราะฉะนั้น กำลังใจสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะจากคนรอบข้าง ตัวเองโดนคนเปรียบเทียบว่า ทำไมนมน้อยจัง ปั๊มตั้งนานออกมาแค่นี้เองเหรอ แค่นี้จะไปพอกินได้ไง คนนู้นเค้าปั๊มออกมาเยอะมากกกกเลยนะ อีกคนนึงเค้าไม่ต้องกินนมแม่ลูกก็ฉลาดดีออก ฯลฯ
อดทนลูกเดียวค่ะ ดีใจที่ผ่านจุดนั้นมาได้
พอเริ่มอยู่ตัว นมหายคัด ลูกดูดเป็น ให้ลูกดูดเรื่อย ๆ นมก็มาค่ะ อาจจะไม่เยอะมาก อย่าไปเปรียบเทียบตัวเองกะคนที่นมเยอะๆ ปั๊มสต๊อกได้เป็นตู้ ๆ เปรียบเทียบไปไม่มีความสุขค่ะ ปั๊มแค่ลูกเราพอกินก็ได้จริงมั้ย แล้วพอลูกดูดเต้าบ่อย ปั๊มบ่อย ๆ นมมาเองค่ะ ซักสองเดือนกว่าเริ่มมีสต๊อกละ ก็ไม่เยอะอยู่ดี แต่นั่นแหละ มันขึ้นอยู่กะเราเปรียบเทียบกะใครจริงมั้ยคะ ของเราสต๊อกไม่เคยเยอะมาก แต่พอลูกกิน ก็พอใจแล้วค่ะ
แล้วตอนนมน้อยทำยังไง
ตอนลูกเข้ารพ.ตัวเหลือง หมอถามค่ะว่าจะให้กินนมผงหรือนมแม่คนอื่น เราให้กินนมผงเลยค่ะ เพราะกลัวว่านมแม่คนอื่นจะปลอดภัย 100% ป่าว ถึงรพ.จะบอกว่าปลอดภัย แต่ไม่มีไรปลอดความเสี่ยงร้อยเปอร์เซนต์ เราเลยคิดว่า ลูกเราก็ต้องให้กินนมเราสิ คือต่อให้เป็นนมคนรู้จัก หรือญาติ ก็ไม่อยากให้กินนะ รู้สึกว่าทำไมต้องลำบากขนาดนั้น เราก็ขยันปั๊มค่ะแรกๆ ปั๊มระหว่างมื้อ เก็บสะสมทีละออนซ์สองออนซ์ ช่วงแรกที่ตัวเหลือง หมอให้ปั๊มให้กิน จะได้รู้ว่ากินนมพอค่ะ ปั๊มกันมื้อต่อมื้อเลยค่ะ ไม่เคยมีสต๊อกถึงสิบออนซ์หรอก แต่พอผ่านจุดนั้นมาได้ นมมาเองค่ะ ที่สำคัญต้องกำลังใจดี ไม่เครียด ยิ่งเครียดยิ่งนมไม่มีนะคะ
ขอให้กำลังใจคุณแม่ ๆ ทุกคนค่ะ มีเยอะมีน้อย ก็นมเราค่ะ เราย่อมอยากให้ลูกเรากินนมเราอยู่แล้วเนอะ แต่ถ้าไม่มีหรือมีน้อยก็อย่ากดดันตัวเองมากค่ะ สมัยรุ่นแม่ๆ เราเค้าไม่ฮิตนมแม่กัน เค้ากินนมแม่กัน 3-4 เดือน เราก็โตกันมาได้ไม่เห็นเป็นไรเลย
ลองอ่านเนื้อหาข้างล่างจากเพจนมแม่เพจอื่น ๆ ที่เขียนได้น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้นะคะ
ลูกใครลูกมัน นมใครนมมัน ลูกใครก็กินนมแม่ของคนนั้น ไม่ควรให้ได้กินนมของคนหรือสัตว์อื่นๆ
#นมผงมีความเสี่ยง
เราควรให้ลูกได้กินนมของแม่ที่สุดแล้วค่ะ ยังไงนมผงก็คือ ของปลอม ของเลียนแบบนมแม่ ที่ไม่ว่าจะยังไง ก็ไม่สามารถเลียนแบบได้อย่างแน่นอน การให้ลูกกินนมผงมีความเสี่ยงหลายประการนะคะ
****นมผงมีความเสี่ยง แต่นมแม่ของคนอื่นที่ไม่ผ่านการคัดกรองหรือไม่ผ่านธนาคารนมแม่ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน****
…
#นมแม่ที่ไม่ผ่านการคัดกรองมีความเสี่ยง
“แม่ทุกคนมีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกเสมอ” น้ำนมจะมีปริมาณและคุณภาพ ปรับตามช่วงวัยและตามความต้องการของลูกอัตโนมัติ หากแม่รับนมคนอื่นมาให้ลูกกิน อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อได้ เช่น HIV ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี EBV CMV herpes etc. และอาจเกิดการแพ้โปรตีนผ่านนมแม่ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า คนที่บริจาคนมกินยังไง ใช้ชีวิตยังไง เครื่องปั๊มนมสะอาดดีหรือไม่ การเก็บรักษาเป็นอย่างไร วิธีแพ็คนมต่างๆ เป็นอย่างไร
…เราจะแน่ใจได้ยังไงว่านมแม่ของคนอื่นจะโอเคสำหรับลูกของเรา? #แม้ว่าจะเป็นญาติกันก็ตาม
ถึงความเสี่ยงจะมีแค่เพียง 1% มันก็ไม่ควรให้เกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น เพราะชีวิตทุกชีวิตมีค่า ความเสี่ยงจึงควรเป็นศูนย์เท่านั้น
#ลูกติดเชื้อ HIV จากการกินนมบริจาคได้ไหม
คุณแม่ Jah Theerapong >> ป้าหมอคะ กรุณาอธิบายเรื่อง HIV กับนมแม่ได้ไหมคะ พอดีมีคนแชร์ไว้แบบนี้ ขอบคุณค่ะ
ป้าหมอ >> ป้าหมอยืนยันไม่ได้ว่า ภาพที่แชร์กันมานั้นเป็นเรื่องจริงไหม แต่ตอบตามหลักทางวิชาการคือ ติดได้ค่ะ ถ้านมบริจาคนั้นมีเชื้อ HIV สำหรับผู้ที่มีน้ำนมแม่จำนวนมาก ต้องการแบ่งปัน ควรติดต่อธนาคารนมแม่ที่รพ.รามาธิบดีค่ะ อย่าไปบริจาคกันเองโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน
#ข้อดีของการกินนมแม่ (ของแม่คนอื่น)
– ทารกได้กินนมแม่ย่อมดีกว่า เพราะนมแม่เหมาะกับระบบย่อยและความต้องการของทารกที่สุด
– ลดความเสี่ยงของการกินนมวัว (ดูข้างต้น)
– ครอบครัวประหยัดเงินได้ค่อนข้างมาก เพราะไม่ต้องจ่ายค่านมผงที่สูงถึงปีละสามหมี่นบาท
#ข้อเสียของการกินนมแม่ (ของแม่คนอื่น)
– ความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ HIV ผ่านนมแม่ แต่จากข้อมูลของ CDC (Centers of Disease Control and Prevention) ความเสี่ยงนี้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจาก 1) หากแม่ป่วย แม่มักไม่ให้นมลูกอยู่แล้ว
– ความเสี่ยงที่เจ้าของนมทานยา ดื่มแอลกอฮอล หรือสูบบุหรี่ ยาและแอลกอฮอลส่งผ่านน้ำนมแม่ได้น้อยมาก แต่คุณแม่ควรเลิกบุหรี่หากต้องการให้นมลูก
– ความเสี่ยงต่อการจัดการนมแม่ เช่นความสะอาดของมือและภาชนะ เป็นต้น
(เชื้ออื่นๆ เช่น CMV ถ้าลูกเราแข็งแรง อาจไม่เจ็บป่วยค่ะ แต่ถ้านมแม่มี CMV และทารกผู้รับนมบริจาคมีร่างกายที่ไม่แข็งแรง ก็อาจมีผลต่อสุขภาพของเด็กคนนั้นได้ค่ะ